ชีวประวัติ ของ ซาร์มีซา บิลเชสกู

เธอมีภูมิหลังจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับอีโยน เบรอตีอานู[1]

เธอเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีสในปี 1884 และได้รับการต้อนรับที่ไม่สู้ดีนัก ตามคำบอกเล่าของ Edmond Louis Armand Colmet De Santerre ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแพ่ง ซึ่งระบุว่า "เราลังเลที่จะให้คำยินยอมตามที่นางบิลเชสกูเรียกร้อง ไม่ฉะนั้นเราคงต้องให้มีตำรวจประจำการที่โถงสอนหนังสือ"[2] และแม้เธอจะได้รับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปารีสแล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่หน้าประตูไม่ยอมเปิดประตูให้เธอเข้าไปภายในอาคารของมหาวิทยาลัย เธอเคยเขียนบ่นถึงพฤติกรรมนี้ว่าช่างขัดกันเหลือเกินกับคติพจน์ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่จารึกไว้เหนือบานประตูนั้น[2] กระนั้นหลังสิ้นสุดปีแรกของการศึกษา Colmet De Santerre ได้รายงานแก่นักศึกษาที่มารวมตัวกัน โดยกล่าวถึงบิลเชสกูว่ามี "ความมุมานะมากยิ่งไปกว่าคำเชิดชูทั้งปวง และเป็นผู้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง" และขอขบคุณนักศึกษาชายที่ได้ "ต้อนรับเธอประดุจพี่/น้องสาวคนหนึ่ง" สุนทรพจน์นี้ของเขาได้รับการปรบมือกราวในหอประชุมจากผู้ฟัง[2]

เธอได้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพในปี 1887[1][2][3] ในปี 1890 ซึ่งรายงานจำนวนนักศึกษาสตรีทั้งหมดในฝรั่งเศสมี 71% เป็นชาวต่างชาติ[3] บิลเชสกูถือเป็นหนึ่งในสตรีชาวยุโรปคนแรก ๆ ที่จบการศึกษาปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ เป็นรองจาก Marie Popelin ในปี 1888[1][3][4][5][6] วิทยานิพนธ์จบของเธอมีชื่อว่า De la condition légale de la mère ("ว่าด้วยสถานะทางกฎหมายของมารดา")[1][4][5] ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในทศวรรษ 1880s โรมาเนียยังได้รับสตรีโรมาเนียคนแรกที่จบการศึกษาแพทยศาสตร์ ซึ่งคือ คริสตีนา คุตซารีดา[6]

ในปี 1891 ภายใต้การสนับสนุนของกอนซตันติน ดิสเศสกู[7] เธอได้การยอมรับเข้าร่วมสถานะเต็มในสมาคมเนติบัณฑิตเทศมณฑลอิลฟอฟซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมเมืองหลวงบูคาเรสต์[1][5] นอกจากจะเป็นสตรีคนแรกในโรมาเนียที่ได้รับตำแหน่งเข้าสู่เนติบัณฑิตยสภาแล้ว[7] ยังถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่เกิดก่อนหลายประเทศอื่นในยุโรป[1][5] นักกฎหมายชาวเบลเยียมและนักการเมืองเสรีนิยม ลุยส์ ฟรังค์ ยินดีกับเหตุการณ์นี้อย่างมาก และเชิดชูว่สเป็น "นวัตกรรมครั้งใหญ่"[7]

อย่างไรก็ตาม เธอไม่เคยได้ประกอบอาชีพว่าความ[1][7] ในขณะที่สตรีคนต่อมาที่สมัครเข้ายังสมาคมเนติบัณฑิตในปี 1901 (ประจำเขตเทศมณฑลอิลฟอฟเช่นกัน) เอเลนา ปอปอวีชี (Elena Popovici) ถูกปฏิเสธการเข้าร่วม[7] บิลเชสกูสมรสกับวิศวกร กอนซตันติน อาลีเมอนิชเตอานู หกปีหลังเข้าร่วมสมาคมเนติบัณฑิตและเกษียณจากอาชีพการงาน ในขณะนั้นเธอยังคงมีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิสตรี และเป็นหนึ่งในสมาชิกชุดแรกของ Societatea Domnişoarelor Române (สมาคมยุวสตรีโรมาเนีย)[1] ในปี 1915 เธอร่วมกับอานา ฮาเรต, ซาบีนา กันตากูซีโน และ มารียา ฟีลีเปสกู จัดตั้งคณะกรรมการภายใต้อุปถัมภ์ของราชินีมารีย์ ทำการเรียกร้องการให้การศึกษาทดแทนสำหรับสตรีที่ถูกปฏิเสธการศึกษาขั้นสูง กระนั้นข้อเรียกร้องนี้ไม่สำเร็จ[1]

ใกล้เคียง